ป่าดิบชื้น (Moist Evergreen Forest)
เป็นป่ารกทึบมองดูเขียวชอุ่มตลอดปี มีพันธุ์ไม้หลายร้อยชนิดขึ้นเบียดเสียดกันอยู่ มักจะพบกระจัดกระจายตั้งแต่ความสูง 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล อยู่ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ และมากที่สุดแถบชายฝั่งภาคตะวันออก เช่น ระยอง จันทบุรี และที่ภาคใต้
#พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่
เป็นวงศ์ยาง เช่น ยางนา ยางเสียน เป็นต้น พันธุ์ไม้อื่น ช่น ไม้ตะเคียน กะบาก อบเชย จำปาป่า ส่วนไม้ชั้นรอง คือ พวกไม้กอ เช่น กอน้ำ กอเดือย และไม้ชั้นล่างจะเป็นพวกปาล์ม ไผ่ ระกำ หวาย บุกขอน เฟิร์น มอส กล้วยไม้ป่าและ เถาวัลย์ชนิดต่างๆ
------------------------------------------------------------------
#ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest)
เป็นป่าที่อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างราบหรือตามหุบเขา มีความชุ่มชื้นน้อย เช่น ในแถบภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300-600 เมตร และมีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,000-1,500 ม.ม.
#ไม้ที่สำคัญได้แก่
มะคาโมง ยางนา ยางแดง พยอม ตะเคียนแดง กระเบากลัก และตาเสือ ส่วนพื้นที่ป่าชั้นล่างจะไม่หนาแน่นและค่อนข้างโล่งเตียน
------------------------------------------------------------------
#ป่าดิบเขา (Hill Evergreen Forest)
ป่าชนิดนี้เกิดขึ้นในพื้นที่สูงๆ หรือบนภูเขาตั้งแต่ 1,000-1,200 เมตร ขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล มีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,000 - 2,000 ม. ส่วนใหญ่อยู่บนเทือกเขาสูงทางภาคเหนือ และบางแห่งในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
#พืชที่สำคัญได้แก่
ไม้วงศ์ก่อ เช่น ก่อสีเสียด ก่อตาหมูน้อย อบเชย พวกไม้ขุนและสนสามพันปี ส่วนไม้ชั้นรอง ได้แก่ เป้ง สะเดาช้าง และขมิ้นต้น และไม้พื้นล่างเป็นพวกเฟิร์น กล้วยไม้ดิน มอสต่างๆ
------------------------------------------------------------------
#ป่าสนเขา (Pine Forest)
ป่าสนเขามักปรากฎอยู่ตามภูเขาสูง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ซึ่งมีความสูงประมาณ 200-1800 เมตรขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล ซึ่งพบมากในภาคเหนือ บางทีอาจปรากฎในพื้นที่สูง 200-300 เมตร จากระดับน้ำทะเลในภาคตะวันออกเฉียงใต้ บางครั้งพบขึ้นปนอยู่กับป่าแดงและป่าดิบเขา ป่าสนเขามีลักษณะเป็นป่าโปร่ง
#ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญของป่าชนิดนี้คือ
สนสองใบ และสนสามใบ
------------------------------------------------------------------
#ป่าชายเลน (Mangrove Forest)
บางทีเรียกว่า "ป่าเลนน้ำเค็ม”หรือป่าเลน มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นแต่ละชนิดมีรากค้ำยันและรากหายใจ ป่าชนิดนี้ปรากฎอยู่ตามที่ดินเลนริมทะเลหรือบริเวณปากน้ำแม่น้ำใหญ่ๆ ซึ่งมีน้ำเค็มท่วมถึงในพื้นที่ภาคใต้มีอยู่ตามชายฝั่งทะเลทั้งสองด้าน ตามชายทะเลภาคตะวันออกมีอยู่ทุกจังหวัดแต่ที่มากที่สุดคือ บริเวณปากน้ำเวฬุ อำเภอลุง จังหวัดจันทบุรี
#พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ตามป่าชายเลน
ส่วนมากเป็นพันธุ์ไม้ขนาดเล็กใช้ประโยชน์สำหรับการเผาถ่านและทำฟืนไม้ชนิดที่สำคัญ คือ โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ประสัก ถั่วขาว ถั่วขำ โปรง ตะบูน แสมทะเล โพทะเล ลำพูนและลำแพน ฯลฯ ส่วนไม้พื้นล่างมักเป็นพวก ปรงทะเลเหงือกปลายหมอ ปอทะเล และเป้ง เป็นต้น
------------------------------------------------------------------
#ป่าพรุหรือป่าบึงน้ำจืด (Swamp Forest)
ป่าชนิดนี้มักปรากฎในบริเวณที่มีน้ำจืดท่วมมากๆ ดินระบายน้ำไม่ดีป่าพรุในภาคกลาง มีลักษณะโปร่งและมีต้นไม้ขึ้นอยู่ห่างๆ เช่น ครอเทียน สนุ่น จิก โมกบ้าน หวายน้ำ หวายโปร่ง ระกำ อ้อ และแขม ในภาคใต้ป่าพรุมีขึ้นอยู่ตามบริเวณที่มีน้ำขังตลอดปีดินป่าพรุที่มีเนื้อที่มากที่สุดอยู่ในบริเวณจังหวัดนราธิวาสดินเป็นพีท ซึ่งเป็นซากพืชผุสลายทับถมกัน เป็นเวลานานป่าพรุแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ ตามบริเวณซึ่งเป็นพรุน้ำกร่อยใกล้ชายทะเลต้นเสม็ดจะขึ้นอยู่หนาแน่นพื้นที่มีต้นกกชนิดต่างๆ เรียก "ป่าพรุเสม็ด หรือ ป่าเสม็ด" เป็นป่าที่มีพันธุ์ไม้ต่างๆ มากชนิดขึ้นปะปนกันชนิด
#พันธุ์ไม้ที่สำคัญของป่าพรุ
ได้แก่ อินทนิล น้ำหว้า จิก โสกน้ำ กระทุ่มน้ำภันเกรา โงงงันกะทั่งหัน ไม้พื้นล่างประกอบด้วย หวาย ตะค้าทอง หมากแดง และหมากชนิดอื่นๆ
------------------------------------------------------------------
#ป่าชายหาด (Beach Forest)
เป็นป่าโปร่งไม่ผลัดใบขึ้นอยู่ตามบริเวณหาดชายทะเล น้ำไม่ท่วมตามฝั่งดินและชายเขาริมทะเล
#ต้นไม้สำคัญที่ขึ้นอยู่ตามหาดชายทะเล
ต้องเป็นพืชทนเค็ม และมักมีลักษณะไม้เป็นพุ่มลักษณะต้นคดงอ ใบหนาแข็ง ได้แก่ สนทะเล หูกวาง โพธิ์ทะเล กระทิง ตีนเป็ดทะเล หยีน้ำ มักมีต้นเตยและหญ้าต่างๆ ขึ้นอยู่เป็นไม้พื้นล่าง ตามฝั่งดินและชายเขา มักพบไม้เกตลำบิด มะคาแต้ กระบองเพชร เสมา
และไม้หนาม เช่น ซิงซี่ หนามหัน กำจาย มะดันขอ เป็นต้น
------------------------------------------------------------------
#ป่าเบญจพรรณ (Mixed Declduous Forest)
ป่าผลัดใบผสม หรือป่าเบญจพรรณมีลักษณะเป็นป่าโปร่งและยังมีไม้ไผ่ชนิดต่าง ๆ ขึ้นอยู่กระจัดกระจายทั่วไปพื้นที่ดินมักเป็นดินร่วนปนทราย ป่าเบญจพรรณ ในภาคเหนือมักจะมีไม้สักขึ้นปะปนอยู่ทั่วไปครอบคลุมลงมาถึงจังหวัดกาญจนบุรี ในภาคกลางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก มีป่าเบญจพรรณน้อยมากและกระจัดกระจาย
#พันธุ์ไม้ชนิดสำคัญได้แก่
สัก ประดู่แดง มะค่าโมง พยุง ชิงชัน พี้จั่น ตะแบก เสลา อ้อยช้าง ส้าน ยม หอม ยมหิน มะเกลือ สมพง เก็ดดำ เก็ดแดง นอกจากนี้มีไม้ไผ่ที่สำคัญ เช่น ไผ่ป่า ไผ่บง ไผ่ซาง ไผ่รวก ไผ่ไร
------------------------------------------------------------------
#ป่าเต็งรัง (Declduous Dipterocarp Forest)
หรือที่เรียกกันว่าป่าแดง ป่าแพะ ป่าโคก ลักษณะทั่วไปเป็นป่าโปร่ง ตามพื้นป่ามักจะมีโจด ต้นแปรง และหญ้าเพ็ก พื้นที่แห้งแล้งดินร่วนปนทราย หรือกรวด ลูกรัง พบอยู่ทั่วไปในที่ราบและที่ภูเขา ในภาคเหนือส่วนมากขึ้นอยู่บนเขาที่มีดินตื้นและแห้งแล้งมาก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีป่าแดงหรือป่าเต็งรังนี้มากที่สุด
#ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญ
ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง กราด พะยอม ติ้ว แต้ว มะค่าแต ประดู่ แดง มะขามป้อม มะกอก ผักหวาน สมอไทย ตะแบก เลือดแสลงใจ รกฟ้า ฯลฯ ส่วนไม้พื้นล่างเป็นหญ้า หญ้าเพ็ก ปรง กระเจียวเปราะ มะพร้าวเต่า ปุ่มแป้ง โจด และหญ้าชนิดอื่นๆ
------------------------------------------------------------------
#ป่าหญ้า (Savannas Forest)
ป่าหญ้าที่อยู่ทุกภาคบริเวณป่าที่ถูกแผ้วถางทำลายบริเวณพื้นดินที่ขาดความสมบูรณ์และถูกทอดทิ้ง หญ้าชนิดต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นทดแทนและพอถึงหน้าแล้งก็เกิดไฟไหม้ทำให้ต้นไม้บริเวณข้างเคียงล้มตาย พื้นที่ป่าหญ้าจึงขยายมากขึ้นทุกปี
#พืชที่พบมากที่สุดในป่าหญ้าก็คือ
หญ้าคา หญ้าขน แฝก อ้อ แขม ตาช้าง หญ้าโขมง หญ้าเพ็กและปุ่มแป้ง บริเวณที่พอจะมีความชื้นอยู่บ้าง และการระบายน้าได้ดีก็มักจะพบพงและแขมขึ้นอยู่ และอาจพบต้นไม้ทนไฟขึ้นอยู่ เช่น ตับเต่า รกฟ้าตานเหลือ ติ้วและแต้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ และ https://www.facebook.com/ThaiForestNews